“บ้านที่ดี ต้องเป็นพื้นที่ที่ทุกคนในครอบครัวสามารถใช้ชีวิตได้อย่างสะดวก ปลอดภัย และมีความสุข”
โดยทั่วไปแล้ว ผู้คนมักตัดสินใจสร้างบ้านในช่วงวัยหนุ่มสาวถึงวัยกลางคน ซึ่งเป็นช่วงที่ร่างกายยังแข็งแรง และเต็มไปด้วยพลัง ทำให้ความสนใจหลักมักอยู่ที่ ความสวยงาม ดีไซน์ทันสมัย และฟังก์ชันการใช้งาน มากกว่าประเด็นด้าน ความปลอดภัย อย่างไรก็ตาม หลายคนอาจมองข้ามไปว่า บ้านหลังนี้ไม่ได้มีแค่เราที่อยู่อาศัย แต่อาจต้องรองรับ เด็กเล็ก ซึ่งเป็นวัยที่กำลังอยากรู้อยากเห็น ซุกซน ลัยังไม่รู้จักอันตราย และผู้สูงอายุ เช่น คุณพ่อคุณแม่ หรือแม้แต่ในอนาคต ตัวเราเองก็จะเข้าสู่วัยที่ร่างกายเปลี่ยนแปลง การมองเห็นอาจลดลง การเคลื่อนไหวอาจไม่คล่องตัวเหมือนเดิม พื้นที่ที่เคยใช้งานได้อย่างสะดวก อาจกลายเป็นอุปสรรคสำคัญของการใช้ชีวิตในอนาคต
บ้านที่ออกแบบให้รองรับการใช้งานของคนทุกช่วงวัย โดยเฉพาะ เด็กเล็กและผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นวัยที่มีข้อจำกัดในด้านการเคลื่อนไหว และมีความต้องการด้านความปลอดภัยแตกต่างจากช่วงวัยอื่นๆ ในบ้าน การออกแบบต้องคำนึงถึงฟังก์ชัน ความปลอดภัย และความสะดวกสบายเป็นหลัก เพื่อให้ทุกคนสามารถใช้ชีวิตร่วมกันได้อย่างไร้กังวล หลักการออกแบบตาม Universal Design หรือการออกแบบเพื่อทุกคน จะช่วยให้บ้านเป็นพื้นที่ที่ เป็นมิตรกับทุกวัย ลดอุบัติเหตุ และรองรับการใช้งานระยะยาว วันนี้เรามาดูแนวทางออกแบบบ้านที่เหมาะสมโดยคำแนะนำจากสถาปนิก และนักการยศาสตร์ของพีระมิดกัน
1. การออกแบบพื้นที่ภายในบ้านให้ปลอดภัยสำหรับทุกวัย
✅ ลดระดับความต่างของพื้นบ้าน
- บ้านควรมีพื้นเรียบ ไม่มีธรณีประตู หรือถ้าจำเป็นต้องมีควรมีความสูงไม่เกิน 1.5 ซม.
- กรณีพื้นต่างระดับ ควรมี ทางลาด(Ramp) ที่มีความชันไม่เกิน 1:12 (1 ซม. ต่อระยะ 12 ซม.) เพื่อให้รถเข็นของผู้สูงอายุ หรือผู้ที่ใช้รถเข็นในการเคลื่อนย้ายตัวเอง กระทั่งการเข็นของต่างๆ เข้าบ้าน สามารถทำได้อย่างสะดวก ไม่ต้องเสียกำลังในการออกแรงยก
- ทางลาดต้องมีราวจับทั้งสองข้าง สูง 85-90 ซม. และมีพื้นกันลื่น
✅ ประตู และทางเดินกว้างขึ้น
- ประตูควรมี ความกว้างไม่น้อยกว่า 90 ซม. เพื่อให้ผู้สูงอายุ และรถเข็นสามารถผ่านได้สะดวก
- ทางเดินในบ้านควรกว้าง อย่างน้อย 100 ซม. เพื่อรองรับการเคลื่อนที่ของทุกวัย
- เลือกใช้ประตู แบบบานเลื่อน หรือ บานเปิดที่ไม่มีธรณีประตู เพื่อลดอุปสรรคในการเดิน
✅ ห้องนอนชั้นล่าง
- ผู้สูงอายุควรมี ห้องนอนอยู่ที่ชั้นล่าง เพื่อลดความเสี่ยงจากการขึ้น-ลงบันได
- ควรอยู่ใกล้ห้องน้ำ ไม่เกิน 3-5 เมตร เพื่อความสะดวกในการใช้งาน
✅ บันไดที่ปลอดภัย
- ความสูงของขั้นบันได (ลูกตั้ง) ไม่ควรเกิน 15 ซม. และความกว้างของขั้นบันได(ลูกนอน) ควรมี อย่างน้อย 28-30 ซม.
- ติดตั้งราวจับที่เป็นทรงกลมกระบอก มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3-4 ซม. สูง 85-90 ซม. ทั้งสองข้างของบันได การใช้มือจับราวบันไดในลักษณะนี้จะช่วยลดการออกแรงของกล้ามเนื้อมือ และกล้ามเนื้อมัดเล็กภายในมือให้สามารถกำมือได้อย่างสะดวก หากราวจับมีลักษณะเป็นเหลี่ยมหรือมุม อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บจากการกดทับระหว่างฝ่ามือ และมุมของวัสดุได้
- พื้นบันไดควรมี แถบกันลื่น หรือขอบยางกันลื่น
- จมูกบันได ควรมีลักษณะโค้งมน จะช่วยลดการบาดเจ็บในกรณีอุบัติเหตุได้
2. การออกแบบเพื่อความปลอดภัยภายในบ้าน
✅ เลือกวัสดุกันลื่น
- พื้นบ้าน ห้องน้ำ ระเบียง และบันได ควรใช้วัสดุที่มีค่าความฝืดสูง (R10 ขึ้นไป)
- หลีกเลี่ยงการใช้ กระเบื้องมันเงา หรือพรมที่เสี่ยงต่อการสะดุดล้ม
✅ ลดมุมแหลม และขอบแข็ง
- เฟอร์นิเจอร์ควรมี มุมมน หรือ ติดยางกันกระแทก
- เลี่ยงเฟอร์นิเจอร์ที่มี ขาตั้งแคบ ไม่มั่นคง เพราะอาจทำให้เด็กสะดุด หรือผู้สูงอายุชนล้ม
✅ ระบบไฟส่องสว่างที่เพียงพอ
- ควรติด ไฟเซ็นเซอร์อัตโนมัติ ในห้องน้ำ ทางเดิน และบริเวณบันได
- ติดตั้งเต้าเสียบ(ปลั๊ก) และสวิตช์ไฟที่ระดับ 80-120 ซม. เพื่อให้ใช้งานได้สะดวกสำหรับทุกวัย เป็นความสูงที่พอดีกับระดับการเอื้อมแขนขึ้น และลงโดยไม่ต้องก้มหลัง อีกทั้งเต้าเสียบปลั๊กบริเวณเตียงนอนควรสูงประมาณ 30 ซม. และเต้าเสียบบริเวณโต๊ะทำงาน ควรสูงจากพื้นประมาณ 80 ซม. เพื่อไม่ให้เกิดการลุกขึ้นไปมาเพื่อเสียบหรือถอดปลั๊ก ขณะนอนหรือทำงาน
3. ห้องน้ำที่ปลอดภัย และใช้งานง่าย
✅ แยกโซนเปียก-แห้ง
- ห้องน้ำควรมีพื้นที่แห้ง และพื้นที่เปียกแยกกันชัดเจน โดยใช้ ฉากกั้นกระจก หรือราวกันน้ำ
- พื้นห้องน้ำควรมี ความลาดเอียง 1 : 100 เพื่อให้น้ำไหลลงสู่ท่อระบายน้ำได้ดี น้ำไม่ขัง จนเป็นสาเหตุทำให้พื้นลื่น
✅ ติดตั้งราวจับในห้องน้ำ
- ควรมีราวจับจากประตูห้องน้ำ ไปยังอ่างล้างหน้า โถส้วม และที่อาบน้ำ ความสูงของราวไม่ต่ำกว่า 80 ซม.
- ติดราวจับข้างโถสุขภัณฑ์ สูง 70-80 ซม.
- ติดราวจับในโซนอาบน้ำ สูง 85-95 ซม. เพื่อช่วยพยุงตัว
✅ เลือกสุขภัณฑ์ที่เหมาะสม
- โถสุขภัณฑ์ควรมีความ สูง 40-45 ซม. เพื่อให้ลุกนั่งสะดวก มีที่กดน้ำชำระแบบโยก ติดตั้งสายชำระไว้ด้านข้างใช้มือเอื้อมไปหยิบได้โดยไม่ต้องเอี้ยวตัว มีราวพยุงติดตั้งไว้ทั้ง 2 ข้างของชักโครก
- หัววาล์ว หรือก๊อกเปิดปิดต่างๆ รวมถึงที่ใส่สบู่เหลว ควรใช้แบบก้านโยก ก้านปัด หรือก้านกดที่ใช้งานง่าย
✅ คำแนะนำเฉพาะทางเพิ่มเติมสำหรับห้องน้ำ(เลือกใช้ให้เหมาะสมกับสภาวะของผู้อยู่อาศัย)
- ห้องน้ำควรมีขนาดกว้างมากกว่า 1.70*1.70 ม. แต่ขอแนะนำว่าไม่ควรกว้างเกินไป เพราะหากผู้สูงอายุ หรือผู้พิการเกิดลื่นล้มในห้องน้ำ จะยังพอสามารถล้มไปพิงผนังได้ ศีรษะจะไม่ฟาดพื้น
- ควรมีพื้นที่โล่งภายในห้องน้ำ เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.50 ม. เพื่อไว้สำหรับให้ผู้สูงอายุ หรือผู้พิการที่นั่งรถเข็นกลับหมุนรถได้
- พื้นภายในห้องน้ำ ควรมีระดับเดียวกับตัวบ้าน ไม่ควรมีธรณีประตู หรือต่างระดับเกิน 2 ซม. เพราะจะทำให้ผู้สูงอายุ หรือผู้พิการเกิดการสะดุดล้มได้ แต่ถ้าหากเป็นพื้นต่างระดับต้องทำสโลปลาดเอียง
- พื้นในห้องน้ำ ควรปูด้วยวัสดุกันลื่น มีค่าความฝืดของผิวตั้งแต่ R10 ขึ้นไป
- ประตูห้องน้ำควรเป็นประตูบานเลื่อนแบบรางแขวน ไม่มีรางบนพื้นขวางทางเข้าเพื่อป้องกันการสะดุดล้ม แต่ถ้าหากเป็นประตูบานพับ ให้เปิดจากด้านนอก ใช้ลูกบิดแบบก้านคันโยก ความกว้างประตูมากกว่า 80 ซม.
- ควรมีที่นั่งอาบน้ำแบบพับเข้าผนังได้ ซึ่งเมื่อกางออก ให้สูงจากพื้น 43 -45 ซม.
- ที่อาบน้ำควรมีราวในแนวดิ่งยาวไม่น้อยกว่า 70 ซม.
- ใช้ฝักบัวที่มีก้านแกนปรับระดับเลื่อนขึ้น-ลงได้ง่าย
- สิ่งของเครื่องใช้ อุปกรณ์ภายในห้องน้ำ ให้สูงจากพื้นระหว่าง 25 – 120 ซม.
- ใต้อ่างล้างหน้า มีพื้นที่ว่างให้เลื่อนรถเข็นสอดเข้าไปได้ และติดตั้งราวจับ 2 ข้างของอ่างล้างหน้า
- มีช่องแสงให้แสงธรรมชาติส่องสว่างเพียงพอ และควรเพิ่มแสงสว่างด้วยหลอดไฟสีขาว จะทำให้เห็นรายละเอียดของสิ่งของต่างๆ ภายในห้องน้ำได้ดีขึ้น
- มีการออกแบบการระบายอากาศที่ดี ใช้หลักการธรรมชาติ ให้อากาศดีไล่อากาศเสีย เพื่อไม่ให้เกิดความอับชื้นในห้องน้ำ
- เลือกสีของวัสดุปูผิวให้มองดูแล้วสบายตา สีของพื้นและผนังควรเป็นสีที่ต่างกัน และตัดกับสีของสุขภัณฑ์อย่างชัดเจน
- กริ่งฉุกเฉินในห้องน้ำ ควรมีปุ่มหรือเชือกดึงสำหรับเรียกขอความช่วยเหลือ หากมีการตะโกนแล้วไม่มีใครได้ยิน หรือผู้อยู่อาศัยมีภาวะเกี่ยวเนื่องกับการออกเสียง
- หากมีผู้พิการทางเสียง ควรติดตั้งไฟสำหรับเตือนภัย หรือสัญญาณสื่อความหมายอื่นๆ ไว้ในห้องน้ำ
- หากมีผู้พิการทางสายตา ควรติดตั้งอักษรเบรลล์ไว้ที่ประตูทางเข้า เพื่อให้ทราบว่าเป็นห้องน้ำ
4. พื้นที่นอกบ้านที่เหมาะกับทุกวัย
✅ ทางเดินรอบบ้านกว้าง และเรียบ
- ทางเดินรอบบ้านควรกว้าง ไม่น้อยกว่า 90 ซม.
- พื้นทางเดินควรใช้วัสดุ กันลื่น และไม่มีระดับต่างกัน
✅ สนามหญ้าปลอดภัย
- หญ้าที่เหมาะสำหรับเด็กเล็กควรเป็น หญ้านวลน้อย หรือหญ้ามาเลเซีย
- หลีกเลี่ยงการปลูกต้นไม้ที่มี หนามหรือใบคม
✅ พื้นที่นั่งพักสำหรับผู้สูงอายุ
- ควรมี มุมนั่งพักในสวน หรือระเบียง ที่มีร่มเงา และอากาศถ่ายเทสะดวก เพื่อให้ผู้สูงอายุได้รับลมรับแดดภายนอก ช่วยให้สุขภาพกาย และใจมีความแข็งแรง
5. ข้อแนะนำเพิ่มเติมเกี่ยวกับการตกแต่งบ้าน
✅ การติดตั้งโทรทัศน์
- ไม่ควรติดตั้งสูง หรือต่ำกว่าระดับสายตา เพื่อให้ร่างกายอยู่ในท่าปกติ ไม่ทำให้เกิดอาการเมื่อยคอ บ่า ไหล่ และหลัง
✅ การเลือกซื้อเฟอร์นิเจอร์ทั่วไป
- โต๊ะทั่วไป ควรมีความสูงประมาณ 70 ซม. หากต่ำหรือสูงเกินไปจะทำให้ไหล่ต้องถูกยกต่ำลงหรือสูงขึ้น ทำให้อยู่ในท่าทางที่เกร็ง ซึ่งส่งผลทำให้เกิดการเมื่อยล้าขณะใช้งานได้
- เก้าอี้ทั่วไป ควรมีความสูงจากพื้นถึงที่นั่ง ประมาณ 35-45 ซม. โดยขณะนั่ง ข้อเท้า หัวเข่า และสะโพก ควรตั้งฉากกับพื้น เพื่อทำให้เกิดการตั้งตรงของหลัง ซึ่งป้องกันการเกิดอาการเมื่อยล้า
- เตียงนอน ควรมีความสูงจากพื้นจนถึงฟูกนอนประมาณ 60 ซม. เพราะเป็นระดับที่พอดีกับการงอพับของหัวเข่า และสะโพก ที่ไม่ทำให้ต้องย่อตัวลงเพื่อล้มตัวลงนอน กระทั่งไม่ต้องปีนป่ายขึ้นเตียงเพื่อเอนหลัง
สรุป
ภาพในฝันของครอบครัวที่อบอุ่นของหลายๆ คน คงจะเป็นภาพที่ในบ้านมีตัวเรา มีคนรัก มีลูกชาย หรือลูกสาว มีคุณปู่-คุณย่าคอยเล่นกับหลานๆ อย่างมีความสุข ซึ่งการออกแบบบ้านที่จะทำให้ทุกช่วงวัยอยู่ร่วมกันได้อย่างอบอุ่น และมีความสุขนั้น ต้องอาศัยหลักการออกแบบตามหลัก Universal Design โดยการออกแบบบ้านที่เหมาะกับครอบครัวที่มีเด็กเล็ก และผู้สูงอายุ ไม่ควรมุ่งเน้นแค่การออกแบบเพื่อความสวยงาม แต่ต้องคำนึงถึง ฟังก์ชัน ความปลอดภัย และความสะดวกสบาย เพื่อให้ทุกคนในบ้านสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปลอดภัย และมีคุณภาพ บ้านที่ได้รับการออกแบบอย่างเหมาะสมตั้งแต่แรก จะช่วยลดอุบัติเหตุ ลดภาระในการปรับปรุงบ้านในอนาคต และช่วยส่งเสริมให้สมาชิกในครอบครัวสามารถใช้ชีวิตได้อย่าง อิสระ และ มีความสุข ในบ้านหลังเดียวกันอย่างยั่งยืน